คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักพบปัญหาการเอาแต่ใจของลูกๆ ซึ่งเด็กส่วนมากจะแสดงพฤติกรรมต่างกันออกไป แต่พฤติกรรมเบื้องต้นคือการร้องไห้ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ วันนี้เรามีวิธีรับมือกับลูกที่เอาแต่ใจมาฝาก
การเพิกเฉยช่วยปรับพฤติกรรมเอาใจแต่
เทคนิคการเพิกเฉยเมื่อลูกน้อยร้องไห้ไม่ใช่เรื่องโหดร้ายสำหรับเด็ก แต่เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้การควบคุมตัวเอง ยังเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ได้สงบสติอารมณ์ของตนเองด้วย มีขั้นตอนง่ายๆดังนี้
ขั้นที่ 1 สงบสติอารมณ์
คุณพ่อคุณแม่ก่อน ต้องใจเย็นๆ (เทคนิคนี้ห้ามทำตอนเรามีอารมณ์ เพราะจะกลายเป็นเราทอดทิ้งลูก)
ขั้นที่ 2 มองหน้าลูก
คุณต้องมองหน้าสบตาลูกให้ได้ และพูดด้วยเสียงนิ่ง สีหน้าเรียบอย่างจริงจัง “แม่จะรอหนูเงียบ เราถึงจะคุยกัน”
ขั้นที่ 3 เพิกเฉยลูก
ให้คุณเพิกเฉยลูก ทั้งคำพูด ท่าที สายตา ไม่พูดซ้ำว่าลูกต้องเงียบ ไม่เช็ดน้ำตาหรืออุ้ม ถ้าลูกพยายามเข้ามาให้กอดหรือให้อุ้ม ก็ควรลุกขึ้นยืนและหันไปทำอย่างอื่นแทน แต่อย่ามีท่าทีทอดทิ้งลูกไป ต้องเป็นท่าทีว่าเรามีงานอื่นที่ต้องทำ กรณีที่ลูกทำร้ายตัวเอง หรือทำลายข้าวของ อนุญาตให้หยุดเพิกเฉยชั่วคราว ให้หันกลับไปจับมือลูกแน่นๆ สัก 10 วินาที มองหน้าลูกพร้อมพูดด้วยเสียงเรียบนิ่งว่า “ไม่ตีแม่/ไม่โยนของ” แล้วแกะของออกจากมือ จากนั้นปล่อยมือลูกและเฝ้าดูจนกว่าลูกจะหยุด แล้วให้กลับไปเพิกเฉยต่อ
ขั้นที่ 4 กลับไปหาลูก
เพื่อตอกย้ำเขาว่า เขาจะได้รับความสนใจก็ต่อเมื่อมีพฤติกรรมที่ดี เงียบ และจะถูกเพิกเฉยเมื่อมีพฤติกรรมร้องไห้เอาแต่ใจ โดยควรพูดกับลูกดังนี้
- ให้ชมลูกแบบบรรยายพฤติกรรม เช่น “หนูเงียบแล้ว หนูเก่งจัง”
- ถามลูกว่า “เมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น” เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้ทบทวนเรื่องราวด้วยตัวเองก่อน ซึ่งจะช่วยให้ลูกเข้าใจตัวเองได้ดีกว่าการรอคำสอนอย่างเดียว แต่หากลูกยังเล็ก และตอบไม่ได้ เราจะต้องเป็นคนค่อยๆ เรียบเรียงเรื่องให้ลูกเข้าใจ
- ขั้นตอนการกลับไปหาลูกจะต้องสั้นและกระชับมาก แต่จะมาโดดเด่นตอนตบบวก เพื่อให้ลูกเชื่อมโยงได้ง่ายขึ้นว่า เวลาที่ร้องไห้งอแงแล้วเงียบ พ่อแม่ถึงจะมาเล่นด้วย
- ตบบวก คือ การหากิจกรรมที่ลูกชอบให้เขาทำเพื่อเป็นการปลอบลูก เช่น เล่านิทานให้ฟัง เล่นด้วยกัน แต่ไม่ควรให้สิ่งของ เพราะเด็กอาจเชื่อมโยงการหยุดร้องไห้กับการได้สิ่งของแทน
เทคนิคการเพิกเฉยเมื่อเริ่มทำลูกอาจจะร้องไห้มากขึ้นเพราะรู้ว่าพ่อแม่ไม่ง่ายเหมือนเดิม จงอดทน เมื่อลูกได้เรียนรู้ก็ลดอาการเอาแต่ใจลงเรื่อยๆ ดีกว่าจะไปดุด่าด้วยความรุนแรง